แกะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่า เนื้อนมใช้บริโภค ทำเครื่องสำอาง ลำไส้เล็กทำด้ายสำหรับเย็บแผลผ่าตัด หรือขึงเป็นสายในเครื่องดนตรีหลายชนิด เป็นส่วนประกอบไส้กรอกบางชนิด ขนและหนังทำเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นได้เป็นอย่างดี
ในเมืองไทยการเลี้ยงแกะยังไม่แพร่หลายเท่าเลี้ยงหมู ไก่ อาจจะเพราะภูมิอากาศที่ร้อนไม่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ขนหนาๆ แต่ยังมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่สามารถก้าวพ้นขีดจำกัดนี้ได้ เพราะที่นั้นอากาศหนาวเย็นสบายอยู่กลางขุนเขาใหญ่
“บ้านห้วยห้อม” เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่หุบเขา อ. แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนที่บ้านห้วยห้อม ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมคือ “การทำผ้าทอขนแกะ” ทรงพระราชทานให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงพันธุ์ โดยทรงโปรดฯให้เจ้าหน้าที่นำพันธุ์แกะจากต่างประเทศ มาทำการผสมพันธุ์แกะพื้นเมือง จนได้แกะลูกพันธุ์ตัดขน ที่ชอบอากาศหนาวเย็น
การเลี้ยงแกะที่นี่ ก็เป็นเลี้ยงด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านแบบง่ายๆไม่ซับซ้อนเหมือนฟาร์มใหญ่ แกะที่นี่จะถูกเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน ในแต่ละวันจะถูกปล่อยให้ออกจากคอกเพื่อกินหญ้า สำหรับแกะที่มีขนหนาพร้อมที่ตัดขน ก็จะถูกนำออกมาตัด โดยวิธีการตัดขนแกะของที่นี่จะเริ่มจาก จับแกะมานอนกดให้นอนนิ่งๆจากนั้นก็จะค่อยๆ ใช้กรรไกรตัดอย่างเบามือด้วยความชำนาญ เพราะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้ตัดเฉือนเนื้อแกะ
เมื่อได้ขนแกะมาแล้ว แกะตัวนั้นก็ถูกพาเขาคอกเลี้ยงตามปกติ จนการขนจะขึ้นปกคลุมร่างกายหนาๆอีกครั้ง ซึ่งโดยมากจะใช้เวลาราว 5-6 เดือน จึงจะสามารถนำแกะตัวเดิมมาตัดขนซ้ำได้อีก ขนแกะที่ได้จะถูกนำมาทำความสะอาดผ่านกรรมวิธี “ฟอก” ก่อนจะนำมาตากแดดให้ขนแกะแห้งสนิท
ขนแกะที่แห้งจะมีความแข็ง สีออกน้ำตาลจับตัวกันเป็นก้อน ต้องนำมาสางหยีด้วยแปรงเฉพาะที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ที่มีลักษณะคล้ายแปรงหวีผมซี่เล็กๆ แผนกสางจะออกแรงสาง จนขนแกะที่แข็งกระจายตัวออกจากกันฟู นุ่มราวกับปุยนุ่น ขาวเหมือนสำลี
การทำผ้าทอขนแกะ
ก่อนจะส่งต่อให้แผนกปั่นด้าย แผนกนี้ไม่ต้องใช้แรงมาก นั่งปั่นด้ายอย่างเดียว ฉะนั้นใครที่ไปถึงห้วยห้อมแล้วเห็นว่าแผนกนี้ มีแต่พ่อแก่แม่เฒ่าก็อย่าแปลกใจไป อ้อ..แต่ปั่นด้ายก็ไม่ง่ายนักหรอกนะ ขนแกะที่ได้จากการปั่นด้าย จะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการถัดไป คือ การทอ
การทอใช้เครื่องทอแบบใช้เอวโบราณดั้งเดิม ไม่ใช้การทอแบบกี่กระตุก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เครื่องทอโบราณใช้การเดินด้ายยืนโดยให้มีความกว้างตามที่แบบกำหนด โดยวนด้ายไปตามเครื่องที่ตั้ง นำด้ายที่เดินเรียบร้อยแล้วมาตั้งเพื่อเตรียมพร้อมในการทอผ้าขนแกะ เริ่มทอผ้าขนแกะ โดยนำด้ายพู่มาสอดกลับตามลวดลายที่ออกแบบ การทอจะนำขนแกะมาผสมผสานกับผ้าฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติในอัตราส่วนที่ เท่ากันอย่างละครึ่ง ขนแกะครึ่งหนึ่ง ฝ้ายครึ่งหนึ่ง
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะ
ผ้าทอขนแกะ บ้านห้วยห้อมมีความงดงามจากการผสมผสานระหว่างขนแกะ เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในฤดูหนาว และใช้ประโยชน์ในงานต่าง ๆ ได้หลากหลายตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ ถือเป็นผ้าทอที่มีการประยุกต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปักเกอญอ ผสานกับขนแกะที่เลี้ยงและตัดขนเองภายในหมู่บ้าน ผ่านกระบวนการทอตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นด้วยการทอแบบโบราณ และความประณีตของลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างสมบูรณ์ ผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อมหนึ่งในความภูมิของชาวแม่ฮ่องสอนที่สินค้าเป็นที่ ต้องการของตลาดในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และศูนย์ศิลปาชีพ ส่วนตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นตลาดญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ส่งผลให้ผ้าทอขนแกะแทบจะกลายเป็นรายได้หลักของหมู่บ้าน สำหรับ ลวดลายของผ้าทอ ยังเน้นความเป็นเอกลักษณ์ตามลายดั้งเดิมที่เคยทำมา เช่น ลายข้าวโพด ลายดอกเข็มมีเพิ่มเติมลายใหม่บ้าง เช่น ลายเจดีย์ และ ลายดอกบัวตอง ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทอก็มีด้วยกันหลายอย่าง เช่นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ย่าม ผ้าตัดเสื้อ ผ้าคลุมโต๊ะ ฯลฯ ส่วนราคาของผลิตภัณฑ์เริ่มตั้งแต่ 450 – 7,500 บาท ขณะที่กำลังการผลิตทั้งหมดจากแรงงานของคนในหมู่บ้านทั้งหมด
Tags: ผลิตภัณฑ์จากขนแกะ